อาหารเสริมธาตุเหล็ก
Iron Supplement
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็ก (Iron) คือแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเลือด สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ผลิตฮีโมโกลบินที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดง และไมโอโกลบินที่เป็นส่วนประกอบของเม็ดสีแดงในกล้ามเนื้อ และการสร้างเอนไซม์บางชนิด เป็นสารอาหารบำรุงเลือดที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม มีธาตุเหล็กปริมาณเพียงแค่ 8% ของปริมาณธาตุเหล็กที่เรารับประทานเข้าไปเท่านั้น ที่ร่างกายสามารถดูดซึมนำไปใช้งานได้จริง มีแค่ปริมาณส่วนน้อยที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้
เม็ดเลือดแดงในร่างกายของเราจะมีวงจรชีวิต 120 วัน และฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่เป็นแหล่งสะสมธาตุเหล็กจะถูกย่อยสลายไป และสร้างขึ้นมาใหม่ ในส่วนของธาตุเหล็กจะถูกเก็บสะสมในร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราจึงต้องการรับประทานธาตุเหล็กเสริมจากภายนอกอย่างสม่ำเสมอ
ปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำต่อวัน
ในเพศชายธาตุเหล็กปริมาณที่เหมาะสมในการบำรุงเสริมต่อวันคือวันละ 10-15 มิลลิกรัม ในผู้หญิงควรได้รับในปริมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน และในผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงให้นมบุตรควรรับประทานปริมาณ 30 มิลลิกรัมต่อวัน
ประโยชน์ของธาตุเหล็ก
- บำรุงเลือด รักษาโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
- ลดปัญหาเหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย
- ช่วยบำรุงการเจริญเติบโต
- ช่วยบำรุงให้สีผิวเรียบเนียน สม่ำเสมอ
- เพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันไข้หวัด ช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยดีขึ้น
โรคและอาการขาดธาตุเหล็ก
- โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ตัวซีด ผิวเหลือง
- อาการเหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย
แหล่งอาหารธรรมชาติที่พบธาตุเหล็ก
ในสารอาหารประเภทเนื้อสัตว์จะสามารถพบธาตุเหล็ดได้มาก เช่นเนื้อประเภทต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อวัว เนื้อหมู ตับ หอยนางรม หอยกาบ เป็นต้น ไข่แดง ธัญพืช ถั่ว ข้าวโอ๊ต กากน้ำตาล หน่อไม้ฝรั่ง ลูกพีชแห้ง เป็นต้น
ประเภทอาหารเสริมธาตุเหล็ก
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมธาตุเหล็กสามารถเลือกรับประทานได้หลายรูปแบบ รูปแบบที่ดูดซึมได้ดีที่สุดคือรูปแบบที่ผ่านการคีเลชันหรือการจับกับกรดอะมิโน ในรูปแบบนี้จะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมนำธาตุเหล็กอินทรีย์ไปใช้ได้ดีที่สุด และยังไม่ทำให้เกิดปัญหาท้องผูกและไม่ระคายเคืองในผู้ที่แพ้ง่าย ไวต่อสารเคมีและยาต่างๆอีกด้วย
ในประเภทเฟอร์รัสซัลเฟต หรือที่เรียกว่าเป็นธาตุเหล็กอนินทรีย์ จะมีฤทธิ์ในการทำลายวิตามินอี จึงควรรับประทานคนละช่วงเวลากับการทานวิตามินอีเสริมอาหารอย่างน้อยแปดชั่วโมงเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกัน
ในส่วนรูปแบบธาตุเหล็กอินทรีย์ ได้แก่ เฟอร์รัสซิเทรค เฟอร์รัสกลูโคเนต เฟอร์รัสฟูเมเรตและเฟอร์รัสเปปโทเนต ในกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหากับการรับประทานร่วมกับวิตามินอี
การรับประทานธาตุเหล็กเกินปริมาณ
การรับประทานธาตุเหล็กเสริมอาหารในปริมาณมากเกินขนาดที่เหมาะสมติดต่อกันเป็นระยะยาว ทำให้มีธาตุเหล็กในกระแสเลือดมากเกินไป และอาจเสี่ยงทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นและทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ โดยเฉพาะในเพศชาย
อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะไม่ค่อยพบผู้ที่ได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป ในวัยผู้ใหญ่จึงสามารถรับประทานธาตุเหล็กเสริมได้ในปริมาณมาก
แต่ข้อระวังคือ ไม่ควรให้เด็กเล็กรับประทานธาตุเหล็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่าสองขวบ ถ้ารับประทาเสริมในปริมาณมากกว่า 3,000 มิลลิกรัม อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว จึงควรเก็บให้ห่างจากมือเด็กเล็ก
เคล็ดลับเพิ่มเติม
- สารอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย ที่แนะนำรับประทานร่วมกันได้แก่ วิตามินซี โคบอลต์ ทองแดง และแมงกานีส
- ในการเผาผลาญวิตามินบี ธาตุุเหล็กเป็นสารอาหารที่สำคัญในกระบวนการนี้
- การเสริมธาตุซิงค์-สังกะสี และวิตามินอีมากเกินปริมาณที่เหมาะสมจะส่งผลเสียต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก
- โปรตีนในไข่ชนิดฟอสโฟ และสารไฟเทตในขนมปังโฮลวีตที่ไม่ได้ผ่านการหมักให้ฟูจะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กได้
- ในผู้หญิงวัยทอง ช่วงวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว สมดุลร่างกายจะแปรเปลี่ยน และร่างกายจะต้องการธาตุเหล็กในปริมาณน้อยกว่าแต่ก่อน จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานเสริม นอกจากผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางร่วมด้วย หรือแพทย์แนะนำเป็นพิเศษ
ผู้ใดควรรับประทานเสริมธาตุเหล็ก
- ผู้ที่ทานมังสวิรัติเป็นประจำ โดยไม่ได้รับธาตุเหล็กจากแหล่งอื่นอย่างเพียงพอ จะเสี่ยงต่อการขาดได้
- ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามาก
- ผู้ที่เสียเลือดมาก ต้องการอาหารเสริมบำรุงเลือด
- ผู้ที่ผ่านการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด อดอาหาร หรือกำลังลดน้ำหนักอย่างเข้มงวด
- ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางชนิดที่ขาดธาตุเหล็ก ตัวซีดจาง เลือดน้อย ผิวเหลืองซีด
- ผู้ที่รับประทานยาแก้อักเสบ เช่น แอสไพริน อินโดซิน เป็นต้น ร่างกายอาจต้องการธาตุเหล็กเพิ่ม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบปริมาณธาตุเหล็กก่อนรับประทาน
- ผู้ที่ชอบดื่มกาแฟ ดื่มชา เป็นประจำ หากมีการดื่มในปริมาณมาก จะส่งผลเสียต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก
หมายเหตุ
- หลีกเลี่ยงการเสริมธาตุเหล็กให้กับเด็กเล็ก และเก็บอาหารเสริมธาตุเหล็กให้ห่างจากมือเด็ก ยกเว้นจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ในผู้ที่เป็นโรคฮีโมโครมาโตซิสโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากมีพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายมีการสะสมธาตุเหล็กเกินขนาด ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการทานธาตุเหล็กเสริม
- สตรีตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนเสริมด้วยธาตุเหล็ก เพราะอาจจะส่งผลไม่ดีกับเด็กในครรภ์ได้หากรับประทานเกินปริมาณที่เหมาะสม
- ในผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงรับประทานธาตุเหล็กเสริมอาหาร เนื่องจากแบคทีเรียจะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ ส่งผลให้การรักษาตัวช้าลง และแบคทีเรียเพิ่มจำนวนขึ้นได้